ภาษาและศาสนา
เดิมพื้นที่อำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี จึงทำให้ประชาชนดั้งเดิมของอำเภอเบตงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายามาก่อน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2343 ได้มีชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางจากประเทศจีนโดยนำเรือมาขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซียแล้วเดินทางเท้า หรือนั่งเกวียนเข้ามายังพื้นที่อำเภอเบตง ชาวจีนส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาในอำเภอเบตงก็ได้รับจ้างถางป่าหักร้างถางพงผืนป่า หลังจากนั้นก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ อาจกล่าวได้ว่าชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีนซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับประเทศเวียดนามเป็นกลุ่มชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตงที่มีส่วนบุกเบิกอำเภอเบตงมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันชาวจีนในอำเภอเบตงมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กวางตุ้ง กวางไส ฮกเกี้ยน ฮากกา และแต้จิ๋ว
จึงส่งผลให้ภาษาพื้นฐานในอำเภอเบตงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับแวดวงทางสังคม เชื้อชาติ และศาสนา เช่น ภาษาไทย ภาษามลายูปัตตานี ภาษาจีนกวางตุ้ง ภาษาจีนกวางไสภาษาจีนแคะ ภาษาจีนฮกเกี้ยน และภาษาจีนแต้จิ๋ว
ศาสนา
ในปีพุทธศักราช 2550 อำเภอเบตงประกอบไปด้วยประชาชนนับถือศาสนาต่าง ๆ ดังนี้ [7]
· 52.9% ศาสนาอิสลาม 29,681 คน,
· 46.4% ศาสนาพุทธ 26,114 คน (รวมไปถึงนิกายเถรวาท และนิกายมหายาน),
· 0.7% ศาสนาคริสต์ 252 คน
มีจำนวนศาสนสถาน ดังนี้ มัสยิดทั้งหมด 25 แห่งวัดในพุทธศาสนา 4 วัด และโบสถ์คริสต์อีก 1 แห่ง
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าประชากรในอำเภอเบตงเป็นประชากรที่ความผสมผสานด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติ และศาสนา ทั้งคนไทยมุสลิม คนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน และอื่น ๆ จึงทำให้มีความหลากหลายทางประเพณี และวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหารการกิน บรรยากาศของเมือง และประวัติศาสตร์ เมื่อรวมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันจึงเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเบตงซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น